อุซเบกิสถาน

Country Profile : Uzbekistan

 

 

 

 

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

 

ข้อมูลทั่วไป

 
เมืองหลวง
ทาชเคนต์   (Tashkent)
 
พื้นที่
447,400 ตารางกิโลเมตร ภูมิประเทศเป็นทะเลทรายล้อมรอบด้วยเทือกเขาสูง
 
ประชากร
26  ล้านคน (2548)ชาวอุซเบก 80% รัสเซีย 5.5% ทาจิก 5% คาซัค 3% อื่นๆ  4%
 
ภาษา
อุซเบก 74.3% รองลงไปได้แก่ภาษารัสเซีย 14.2% และภาษาทาจิก 4.4%
 
ศาสนา
อิสลามนิกายสุหนี่  88%  คริสต์นิกายอีสเทิร์นออโธด็อกซ์  9% อื่นๆ 3%
 
สกุลเงิน
ซอม (Som)  อัตราแลกเปลี่ยน  1 USD = 1,200  UzS  (กุมภาพันธ์ 2549)
 
เวลา
เร็วกว่ามาตรฐาน GMT 5 ชั่วโมง (ช้ากว่าไทย 2 ชั่วโมง)
 
ภูมิอากาศ

สภาพอากาศค่อนข้างหลากหลายตามแต่ละพื้นที่ เนื่องจากสภาพภูมิประเทศที่มีทั้งทะเลทราย และพื้นที่สูง ฤดูร้อนอากาศร้อน ฤดูหนาวอากาศเย็นสบาย

 
เมืองสำคัญ

Bukhara เมืองสำคัญทางประวัติศาสตร์ มีสถาปัตยกรรมที่สวยงาม และเป็นเขตอุตสาหกรรมผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และสิ่งทอ

Ferghana เมืองสำคัญด้านการเกษตร และอุตสาหกรรมหลายประเภท มีทัศนียภาพสวยงาม

Samarkand เป็นเมืองใหญ่อันดับสองของประเทศรองจากกรุงทาชเคนต์ มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และศาสนาอิสลาม
 
 

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับอุซเบกิสถาน
     อุซเบกิสถานเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในเอเชียกลาง  และเป็นประเทศที่จัดอยู่ในกลุ่มประเทศ double-landlocked countries คือ ประเทศที่ถูกล้อมรอบด้วยประเทศที่ไม่มีทางออกทะเล (landlocked countries) ประเทศที่อยู่ในกลุ่ม double-landlocked มีเพียง 2 ประเทศในโลก คือ อุซเบกิสถาน และลิกเตนสไตน์

 

ข้อมูลการเมือง

 
รูปแบบการปกครอง
ประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ มีประธานาธิบดีเป็นประมุข มีอำนาจเบ็ดเสร็จ
 
รัฐธรรมนูญ

ฉบับปัจจุบันประกาศใช้เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2535 (ค.ศ.1992)

 
การแบ่งส่วนการปกครอง
 
ฝ่ายบริหาร
ประธานาธิบดี

เป็นประมุข มาจากการเลือกตั้ง  ในการลงประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2545 ขยายวาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีจาก 5 ปี เป็น 7 ปี

 
นายกรัฐมนตรี
เป็นหัวหน้ารัฐบาลมาจากการเสนอชื่อจากรัฐสภาตามการเสนอแนะของประธานาธิบดี
 
 
ฝ่ายนิติบัญญัติ

ระบบสองสภา (Bicameral Parliament) โดยรัฐสภา (Supreme Assembly หรือ Oliy Majlis) ประกอบด้วย (1) สภาผู้แทนราษฎร (Legislative chamber) ประกอบด้วยสมาชิก 120 คนมาจากการเลือกตั้งและ (2) วุฒิสภา (Senate) ประกอบด้วยสมาชิก 100 คน 84 คนจะมาจากการเลือกตั้งท้องถิ่น อีก 16 คนแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี

 
ฝ่ายตุลาการ
ศาลฎีกา (Supreme Court) เป็นศาลสูงสุด ผู้พิพากษาได้รับการเสนอชื่อจากประธานาธิบดีและรับรองโดยรัฐสภา
 
การแบ่งเขตการปกครอง
อุซเบกิสถานแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 1 สาธารณรัฐปกครองตนเอง คือ Republic of Karakalpakstan และ 12 มณฑล ได้แก่ Andijan, Bukhara Jizzak, Kashkadarya, Navoiy, Namangan, Samarkand, Surkhandarya, Khoresm, Ferghana, Syrdarya และ กรุง Tashkent ซึ่งเป็นเมืองหลวงของอุซเบกิสถาน
 

ผู้นำสำคัญทางการเมือง

 
ประธานาธิบดี
นาย Islam A. Karimov (อดีตประธานาธิบดีสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตอุซเบกิสถาน) ได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2534 และจากผลการหยั่งเสียงประชามติในปี 2539  ได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งไปจนถึงปี 2543  ต่อมาได้รับเลือกตั้ง   ครั้งที่สองเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2543 ประธานาธิบดี Karimov จะครบวาระการดำรงตำแหน่งใน  เดือนธันวาคม 2549
 
นายกรัฐมนตรี
นาย Shavkat Mirziyayev
 
 

ข้อมูลเศรษฐกิจ  (2004)

 
GDP
12  พันล้าน USD
 
GDP Growth
ร้อยละ 8
 
GNI per capita  
460  USD
 
อัตราเงินเฟ้อ
ร้อยละ 3  (2004)
 
ประชากรที่มีชีวิตต่ำกว่าระดับความยากจน* 
ร้อยละ 28  (2002)
 
อัตราการว่างงาน
ร้อยละ 0.6  (2004)
 
ทรัพยากร

ก๊าซธรรมชาติ ปิโตรเลียม ถ่านหิน ทองคำ ยูเรเนียม เงิน ทองแดง ตะกั่ว สังกะสีและทังเสตน

 
ผลิตภัณฑ์ทางเกษตรกรรม

ฝ้าย ผักและผลไม้ (แตงไทย แตงโม แอพริคอท องุ่น แพร์ เลมอน) ปศุสัตว์

 
อุตสาหกรรม

สิ่งทอ  อาหารแปรรูป เครื่องจักร โลหะ ทอง ปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ เคมีภัณฑ์

 
มูลค่าการส่งออก (FOB)

3.7 พันล้าน USD (2004)

 
สินค้าส่งออก   

ฝ้าย 41.5 % ทอง 9.6 % ก๊าซธรรมชาติ ปุ๋ย โลหะเหล็ก สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์อาหารรถยนต์ ยานพาหนะ

 
ตลาดส่งออกที่สำคัญ

รัสเซีย  22.4 % จีน 9.3 % ยูเครน 7.5 %ทาจิกิสถาน 6.2 % บังคลาเทศ 4.7% ตุรกี 4.6 %

 
มูลค่าการนำเข้า (FOB)

2.82 พันล้าน USD (2004)

 
สินค้านำเข้าสำคัญ
เครื่องมือเครื่องจักร อาหาร เคมีภัณฑ์ โลหะ รองเท้า
 
แหล่งนำเข้าสินค้า

รัสเซีย 22.3%  สหรัฐอเมริกา 11.4%  เกาหลีใต้  11% เยอรมนี 9.5% จีน 6.5% ตุรกี 6.1%

 
หนี้ต่างประเทศ
5.184 พันล้าน USD (ประมาณการปี 2005)
 

*ที่มาข้อมูลเศรษฐกิจ : EIU, IMF, CIA The World Factbook

 
 

รู้เรื่องอุซเบกิสถาน * * * * *

 

ชาวอุซเบก (Uzbeks) มาจากไหน ?

 
 

        ชาวอุซเบก มีต้นกำเนิดมาจากเผ่าพันธุ์ชาวมองโกลเร่ร่อน ซึ่งได้เข้ามาแต่งงานกับชาวเติร์กพื้นเมืองของภูมิภาคเอเชียกลางในช่วงศตวรรษที่ 13  สันนิษฐานว่า คำว่า “อุซเบก” (Uzbek) มาจากชื่อของ Uzbek Khan ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากเจงกิซ ข่าน และปกครองอาณาจักรมองโกลในส่วนที่เรียกว่า Golden Horde ในเอเชียกลาง อุซเบกิสถานมีสถานะเป็นรัฐชาติในศตวรรษที่ 18 จากการรวมตัวของเจ้าผู้ครองแคว้นบุคารา ซามาร์คานด์และโคคานด์เข้าด้วยกัน และสถาปนาอาณาจักร Turkestan ขึ้น ต่อมาในยุคของการล่าอาณานิคม รัสเซียเข้ามาครอบครองอุซเบกิสถานได้ส่วนหนึ่งบริเวณพื้นที่ระหว่างแม่น้ำ Syr-Darya กับ Amu-Darya  ภายหลังที่เอาชนะเจ้าผู้ครองแคว้นโคคานด์ได้สำเร็จในสงครามเมื่อปีค.ศ.1876

 

อุซเบกิสถานภายใต้การปกครองสหภาพโซเวียต

            ภายหลังการปฎิวัติสังคมนิยม ในปี ค.ศ.1917 ได้มีการจัดตั้งสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตเติร์กสถานขึ้นใน   ปี ค.ศ. 1918  ต่อมาภายหลังที่ได้ปรากฏรัฐชาติใหม่ ได้แก่ คาซัคสถานและเติร์กเมนิสถานในภูมิภาคเอเชียกลาง สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตเติร์กสถานก็ได้สลายตัว และสหภาพโซเวียตก็ได้จัดตั้งสาธารณรัฐสังคมนิยมอุซเบกิสถานขึ้นแทนโดยรวมเอาทาจิกิสถานเข้ามาไว้เป็นส่วนหนึ่งด้วย และในปี ค.ศ. 1925  อุซเบกิสถานก็ได้เป็นสาธารณรัฐหนึ่งในสหภาพโซเวียตอย่างสมบูรณ์

            ในสมัยสหภาพโซเวียต อุซเบกิสถานถูกกำหนดให้เป็นศูนย์กลางการพัฒนาอุตสาหกรรมของภูมิภาคเอเชียกลาง ซึ่งในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลมอสโกได้ย้ายอุตสาหกรรมทั้งระบบไปไว้ยังเขตเทือกเขาอูราลและ      อุซเบกิสถานเพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายอันจะเกิดขึ้นได้จากการรุกรานของนาซีเยอรมัน  อุซเบกิสถานจึงเป็นสาธารณรัฐที่มีระดับการพัฒนาทางอุตสาหกรรมสูงที่สุดในเอเชียกลางและสูงเป็นอันดับที่ 4 ของสหภาพโซเวียต      รองจากรัสเซีย  ยูเครนและเบลารุส

            ถึงแม้อุซเบกิสถานจะมีฐานะเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมของโซเวียตในภูมิภาคเอเชียกลาง แต่รัฐบาลโซเวียตก็กำหนดกรอบการพัฒนาเศรษฐกิจของอุซเบกิสถานให้เป็นประเทศผู้ป้อนวัตถุดิบประเภทฝ้ายและแร่ทองคำให้แก่อุตสาหกรรมแปรรูปในรัสเซียและยูเครน  การสร้างระบบเกษตรกรรมการปลูกฝ้ายขนาดใหญ่ (plantation) ทำให้อุซเบกิสถานประสบปัญหาระบบนิเวศน์  กล่าวคือ น้ำจากทะเลสาบ Aral  ซึ่งเป็นแหล่งชลประทานให้แก่ไร่ฝ้ายนั้น  มีระดับลดลงไปถึงครึ่งหนึ่งและก่อความเสียหายให้แก่ระบบชลประทานของประเทศในปัจจุบัน

 

อุซเบกิสถานหลังได้รับเอกราชจากสหภาพโซเวียต

            หลังจากที่สาธารณรัฐอุซเบกิสถานได้ประกาศเอกราชเมื่อวันที่ 1 กันยายน  2534 รัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาประเทศโดยแนวทางประชาธิปไตยตามแบบของตนเอง โดยได้บัญญัติไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญและได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอย่างกว้างขวาง แม้ว่าประมุขของประเทศจะยังคงเป็นประธานาธิบดี Islam Karimov ซึ่งเป็นผู้นำสายคอมมิวนิสต์เดิม แต่แนวนโยบายแบบเสรีนิยมประชาธิปไตยก็ได้มีการพัฒนาขึ้นตามลำดับ ประชาชนสามารถถือกรรมสิทธิ์ในที่ทำกิน สามารถเป็นเจ้าของกิจการ และเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต นอกจากนี้รัฐบาลได้ส่งเสริมการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ อย่างไรก็ตาม ปัญหาทางเศรษฐกิจที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ในระยะสั้น
ทำให้รัฐบาลยังคงดำเนินนโยบายที่ค่อนข้างผูกขาดอำนาจ จนก่อให้เกิดกลุ่มต่อต้านรัฐบาลหลายกลุ่ม รวมทั้งมีความขัดแย้งในหมู่ชนกลุ่มน้อยชาวคาซัค และชาวทาจิก เป็นระยะ ๆ

            แม้ว่าการเมืองของอุซเบกิสถานจะเป็นแบบศูนย์รวมอำนาจโดยพรรคเสรีประชาธิปไตย (PDP) แต่อำนาจที่แท้จริงนั้นอยู่ในการควบคุมของประธานาธิบดี Karimov ซึ่งได้รับเลือกตั้งตั้งแต่ปี 2534 ซึ่งตามวาระนั้นจะสามารถดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้เพียงวาระละ 5 ปี แต่จากผลการหยั่งเสียงประชามติ ทำให้ประธานาธิบดี Karimov สามารถดำรงตำแหน่งได้จนถึงปี 2543  และได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่สองเมื่อวันที่       24 มีนาคม 2543  ทั้งนี้นักวิเคราะห์การเมืองวิจารณ์ว่า การเลือกตั้งและการหยั่งเสียงประชามติยังไม่มีความโปร่งใสเพียงพอ

            แนวทางการปฏิรูปประเทศภายใต้การนำของประธานาธิบดี Karimov ได้คำนึงถึงเสถียรภาพทางการเมือง   เป็นหลัก โดยมีระบบพรรคการเมืองเดียวเป็นฐาน และแยกการเมืองและศาสนาอิสลามออกจากกันอย่างเด็ดขาดในด้านเศรษฐกิจ ดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจโดยอาศัยการแทรกแซงของรัฐเป็นเครื่องมือสำคัญ โดยใช้แบบจำลอง ของเยอรมันภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นแนวทาง

            อุซเบกิสถานมีนโยบายการเมืองแบบชาตินิยม ด้วยคำขวัญว่า “อุซเบกิสถานจะต้องเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่ในอนาคต” และพยายามสร้างบทบาทนำในภูมิภาคนี้

            ภายหลังการแยกตัวจากสหภาพโซเวียต นับว่ารัฐบาลของอุซเบกิสถานมีความมั่นคงมากที่สุดรัฐบาลหนึ่งในสาธารณรัฐมุสลิมเอเชียกลาง  รัฐบาลอุซเบกิสถานได้ดำเนินนโยบายปราบปรามฝ่ายตรงข้ามอย่างเฉียบขาด ด้วยการขจัดการเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองนิยมศาสนาอิสลามหัวรุนแรงภายในประเทศและจากภายนอกประเทศ โดยเฉพาะจากทาจิกิสถาน นอกจากนี้ อุซเบกิสถานมีพื้นฐานระบบเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับประเทศเอเชียกลางทั่วไป สืบเนื่องจากในสมัยสหภาพโซเวียต อุซเบกิสถานได้รับการวางรากฐานการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และการวิจัยทางอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและการบินซึ่งช่วยให้อุซเบกิสถานสามารถพัฒนาความร่วมมือทางการบินกับต่างประเทศก่อนประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียกลาง และเอื้ออำนวยต่อการรองรับการลงทุนจากต่างประเทศซึ่งใช้เทคโนโลยีระดับสูงได้โดยง่าย

 

อุซเบกิสถานในปัจจุบัน

            สถานการณ์ทางการเมือง

            ประธานาธิบดี Karimov ยังคงใช้ความเข้มงวดในการควบคุมสถานการณ์ทางการเมือง โดยอ้างเหตุผลด้านความมั่นคง มีการควบคุมการแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ ของสื่อมวลชน  ทำให้อุซเบกิสถานมีภาพลักษณ์ทางลบในด้านการเคารพสิทธิมนุษยชนในสายตาของรัฐบาลประเทศตะวันตกซึ่งไม่เห็นด้วยกับการจำกัดเสรีภาพของสื่อมวลชนดังกล่าว     

              สถานการณ์ความไม่สงบในอุซเบกิสถานมีความรุนแรงมาก โดยเมื่อปลายเดือนมีนาคม 2547ขึ้นได้เกิดเหตุระเบิดพลีชีพและการปะทะกันระหว่างกองกำลังของรัฐบาลกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่กรุงทาชเคนต์ ทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 23 คน ทั้งนี้ แม้รัฐบาลจะพุ่งเป้าสาเหตุและผู้กระทำผิดไปที่การก่อการร้ายโดยขบวนการมุสลิม          หัวรุนแรงกลุ่ม Hizb-ut-Tahir ซึ่งมีสายสัมพันธ์กับกลุ่ม Al- Qae’da และเคยได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มทาลีบันในอัฟกานิสถานมาก่อน รวมทั้งเคยเป็นแกนนำในการลอบวางระเบิดสังหารประธานาธิบดี Islam Karimov 2 ครั้งในช่วงปี 2543 อย่างไรก็ตาม สาเหตุหนึ่งของเหตุการณ์รุนแรงครั้งนี้ มีรากลึกลงไปถึงความไม่พอใจและปฏิกิริยาของประชาชนที่มีต่อระบบการเมืองการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยของรัฐบาลประธานาธิบดี Karimov รวมถึงการ    ฉ้อราษฎร์บังหลวงในวงรัฐบาลด้วย ทั้งนี้ ความไม่พอใจดังกล่าวสะท้อนออกมาโดยการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มมุสลิมต่างๆ ในประเทศ โดยในช่วงแรกเป็นการเคลื่อนไหวโดยสันติและมีเป้าหมายเพื่อประเด็นทางสังคม และต่อมาได้เพิ่มระดับเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น ซึ่งเมื่อกลุ่มมุสลิมต่างๆ ถูกปราบปรามโดยรัฐบาลซึ่งไม่สนับสนุนระบบการเมืองแบบหลายฝ่ายหนักขึ้นเรื่อยๆ จึงเปลี่ยนการเคลื่อนไหวโดยสันติเป็นปฏิบัติการด้วยกำลังอาวุธโดยได้รับการสนับสนุนจากขบวนการมุสลิมนอกประเทศ

            เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2548 ได้มีการประท้วงรัฐบาลที่เมือง Andijan ราว 200 ก.ม.จากกรุงทาชเคนต์ และต่อมาที่เมือง Korasuv ในเขตหุบเขา Ferghana ทางภาคตะวันออกใกล้พรมแดนคีร์กีซสถาน ซึ่งเป็นเขตที่ถูกจับตามองจากทางการอุซเบกิสถาน เนื่องจากรัฐบาลเชื่อว่ามีกลุ่มมุสลิมที่ต่อต้านรัฐบาลและมีแนวความคิดที่จะแยกตัวเป็นอิสระ แหล่งข่าวต่างๆ เชื่อว่า การประท้วงมีสาเหตุจากความไม่พอใจการบริหารประเทศของประธานาธิบดี ที่ละเลยต่อความเป็นอยู่ของประชาชน ในการปะทะกันของกองทัพของรัฐบาลและผู้ชุมนุมประท้วงเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตราว  750 คนและบาดเจ็บอีกนับพันคน (ตัวเลขทางการมีผู้เสียชีวิต 187 คน) ซึ่งรัฐบาลอุซเบกิสถานได้กล่าวหากลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง (Hizb ut-Tahrir) ว่าอยู่เบื้องหลังการก่อเหตุจลาจลดังกล่าว และเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2548 ศาลสูงสุดของอุซเบกิสถานได้ตัดสินจำคุกผู้ต้องหา 15 คน ซึ่งรัฐบาลกล่าวหาว่ามีส่วนก่อเหตุความไม่สงบที่เมือง Andijan ซึ่งผู้ต้องหาทั้งหมดให้การสารภาพ โดยแหล่งข่าวต่างๆ เชื่อว่ากระบวนการตัดสินไม่โปร่งใส และน่าจะเป็นเพียงการจัดฉากของฝ่ายรัฐบาลเท่านั้น

            หลังจากที่สหรัฐฯ ลังเลที่จะแสดงท่าทีในเรื่องนี้ เนื่องจากความร่วมมือด้านการทหารที่มีอยู่ แต่ต่อมาสหรัฐฯ EU และ OSCE ได้เรียกร้องให้องค์การนานาชาติเข้าไปสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ประธานาธิบดี Karimov ปฏิเสธและยืนยันไม่ให้มีการสอบสวนดังกล่าว เมื่อเดือนกรกฎาคม 2548    ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากองค์การสหประชาชาติที่สหรัฐฯ เป็นแกนนำได้ช่วยเหลือนำผู้ลี้ภัยชาวอุซเบกที่ลี้ภัยไปยังคีร์กีซสถานส่งต่อไปยังประเทศโรมาเนีย รัฐบาลของประธานาธิบดี Karimov ได้ออกคำสั่งให้ถอนฐานทัพของสหรัฐที่ประจำอยู่ที่เมือง Karshi-Khanabad ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านชายแดนติดกับอัฟกานิสถานออกจากอุซเบกิสถานภายในสิ้นปี 2548 เมื่อเดือนตุลาคม 2548  ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของ EU ได้มีมติให้ใช้มาตราการคว่ำบาตรกับอุซเบกิสถาน โดยจะงด ค้าอาวุธ ลดเงินทุนช่วยเหลือและระงับโครงการบางส่วนของThe EU-Uzbek Partnership and Cooperation Agreement (PAC) รวมทั้งงดการตรวจลงตราแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลอุซเบกิสถานอีกสิบสองคนด้วย

            สำหรับรัสเซียได้แสดงการสนับสนุนอุซเบกิสถานในเรื่องนี้มาโดยตลอด โดยเชื่อว่าการจลาจลที่เมือง Andijan มีผู้อยู่เบื้องหลังไม่ใช่เกิดขึ้นจากความไม่พอใจต่อรัฐบาลต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมอย่างที่ประเทศส่วนใหญ่เข้าใจกัน โดยเมื่อวันที่ 14-15 พฤศจิกายน 2548 ประธานาธิบดี Karimov เยือนรัสเซียอย่างเป็นทางการ โดยได้ลงนามความร่วมมือทางการทหารร่วมกัน ซึ่งรวมถึงการอนุญาตให้ใช้อาวุธของตนในเขตแดนของกันและกัน และการช่วยเหลือทางการทหารต่อกันในกรณีที่ถูกรุกรานด้วย

            สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ

            ภายหลังการประกาศเอกราชในปี 2534 รัฐบาลพยายามคงระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ ซึ่งมีการอุดหนุนตลาดและการควบคุมราคาสินค้าส่งออกส่วนใหญ่ของอุซเบกิสถาน ได้แก่ ปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน ทองคำและเงิน และในด้านเกษตรกรรม ฝ้ายยังเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญ แต่ภายหลังจากที่ราคาฝ้ายในตลาดโลกตกต่ำ ตลอดจนการที่อุซเบกิสถานประสบปัญหาประเทศลูกค้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติไม่สามารถชำระเงินได้ ทำให้ อุซเบกิสถานประสบกับสภาวะเงินเฟ้ออย่างหนัก รัฐบาลจึงหันมาดำเนินมาตรการปฏิรูปเศรษฐกิจในปี 2537 โดยลดการควบคุมเศรษฐกิจโดยกลไกของรัฐ และส่งเสริมบรรยากาศการลงทุนจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปเศรษฐกิจยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร  เนื่องจากอุซเบกิสถานมีนโยบายเน้นความเป็นชาตินิยม จึงเป็นผลให้ถูกมองว่าเป็นประเทศที่ค่อนข้างดำเนินนโยบายแบบโดดเดี่ยว มีระบบเศรษฐกิจที่ยังไม่โปร่งใสและมีความล่าช้าในการเปิดเสรี และเป็นคู่แข่งในด้านการแข่งขันเพื่อการยอมรับทางการเมืองในระดับภูมิภาค รวมทั้งแข่งขันในการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติกับคาซัคสถานซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจและสถานะทางการเมืองที่ใกล้เคียงกันมาตลอด  นอกจากนี้ ปัจจุบันธุรกิจส่วนใหญ่ของประเทศเป็นธุรกิจผูกขาดที่ดำเนินการโดยเครือข่ายของบุคคลในตระกูลและกลุ่มผลประโยชน์ของบุคคลในรัฐบาล อีกทั้งระบบการจัดเก็บภาษียังไม่โปร่งใส ตลอดจนการกระจายรายได้ไม่ถึงประชาชนอย่างแท้จริง ทำให้อุซเบกิสถานมีจำนวนประชากรที่ยากจนมากกว่าประเทศใดๆ ในเอเชียกลางรองลงมาจากทาจิกิสถาน

            ในปี 2548 อุซเบกิสถานมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจร้อยละ 7 ซึ่งมาจากการเติบโตของอุตสาหกรรมในสาขาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติส่วนใหญ่ ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อของประเทศสูงขึ้นเป็นร้อยละ 7.8 ตามการขยายตัวของการส่งออกน้ำมันที่มีราคาเพิ่มขึ้นตามตลาดโลก  รัฐบาลของอุซเบกิสถานพยายามพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศโดยเร่งดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจ  แปรรูปรัฐวิสาหกิจ พัฒนาอุตสาหกรรมที่หลากหลายเพื่อลดปัญหาการว่างงาน

            อย่างไรก็ดี ในด้านการคมนาคมขนส่งและระบบโลจิสติก อุซเบกิสถานมีความได้เปรียบในด้านการเป็นเส้นทางผ่านและเชื่อมโยงการติดต่อ (cross road) ทั้งระหว่างภูมิภาคเอเชียกลาง และระหว่างตะวันตกและตะวันออก แม้ว่าอุซเบกิสถานจะไม่มีทางออกสู่ทะเลแต่ก็มีเส้นทางคมนาคมสำหรับรถยนต์และรถไฟที่เชื่อมโยงการขนถ่ายสินค้าไปได้ทั่วภูมิภาค อีกทั้งเป็นชุมทางการขนส่งทางอากาศโดยเฉพาะเที่ยวบินจากยุโรปเชื่อม
ต่อไปเอเชีย

            อุซเบกิสถานมีจุดแข็งที่สำคัญคือเป็นตลาดขนาดใหญ่เป็นลำดับ 3 ของกลุ่มประเทศ CIS และมีความอุดมสมบูรณ์ทางการเกษตรโดยเฉพาะพื้นที่ตอนกลางและตอนใต้ซึ่งเป็นที่ราบลุ่ม อีกทั้งมีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญและน่าสนใจ ได้แก่ เมือง Samarkand , Bukara และ Khivaซึ่งเป็นเมืองเก่าแก่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และอารยธรรมบนเส้นทางสายไหมในอดีต

 

 

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับอุซเบกิสถาน : เส้นทางสายไหม (The Silk Routes)

 

            เส้นทางสายไหม  คือเส้นทางการค้าทางบกโบราณที่เกิดขึ้นเมื่อศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาล เชื่อมระหว่างยุโรปกับเอเชีย จากเมืองฉางอันหรือซีอันในจีนปัจจุบัน ไปสู่กรุงคอนแสตนติโนเปิล ผ่านดินแดนส่วนใหญ่ในอุซเบกิสถาน  และเอเชียกลางอื่นๆ เช่น อัฟกานิสถาน คีร์กีซสถาน เติร์กเมนิสถาน คาซัคสถาน
ทาจิกิสถาน เป็นต้น เป็นเส้นทางการค้าที่มีเครือข่ายเชื่อมโยงกันหลายสายคล้ายใยแมงมุม  พ่อค้าและขบวนคาราวานได้นำสินค้าที่มีชื่อที่สุดคือ ผ้าไหม จากจีนได้เข้าสู่ยุโรปในสมัยโรมันโดยผ่านเส้นทางเหล่านี้ ทำให้
ผ้าไหมจากเอเชียกลายเป็นสินค้าหายากที่มีราคาในโรม อย่างไรก็ดี ชื่อ “The Silk Roads “ หรือ “The Silk Routes” มิได้มีต้นกำเนิดมาจากชาวโรมัน แต่นักวิชาการชาวเยอรมันชื่อ นาย Baron Ferdinand von Richthofen von Richthofen เป็นคนแรกที่บัญญัติคำเรียกเส้นทางการค้าโบราณเส้นนี้ว่า เส้นทางสายไหม ซึ่งต่อมาได้รับการยอมรับและถูกใช้เรียกอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อศตวรรษที่ 19

            เส้นทางสายไหมโบราณนี้รุ่งเรืองที่สุดในศตวรรษที่ 8 นอกจากผ้าไหมแล้ว ขบวนพ่อค้าคาราวานยังได้นำสินค้าอื่นๆ ที่มีค่าจากเอเชียไปขายในยุโรป อาทิ ทองคำ งาช้าง อัญมณี และนำสินค้าขึ้นชื่อจากยุโรป ได้แก่ ขนสัตว์ หยก เครื่องทองเหลือง เหล็ก เข้ามาในเอเชีย  พร้อมกับขบวนคาราวาน ได้เกิดการแลกเปลี่ยนอารยธรรมระหว่างเอเชีย-ยุโรป รวมถึงเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น เทคโนโลยีในการผลิตกระดาษ ดินระเบิด เข็มทิศ รวมถึงลูกคิด ซึ่งกลายเป็นต้นแบบของการผลิตคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน ขณะเดียวกัน ศาสนาพุทธจากอินเดียก็อาศัยเส้นทางสายไหมนี้เขาสู่เอเชีย ทั้งจีน เกาหลี พม่า ลาว เวียดนาม กัมพูชา และไทย เช่นเดียวกันชาวเปอร์เซียที่นำเอาศาสนาอิสลามเข้ามาในบริเวณเอเชียกลางถึงเอเชียตะวันออก 

            เส้นทางสายไหมในส่วนที่ผ่านอุซเบกิสถาน ทำให้เกิดเมืองที่เป็นศูนย์กลางทางการค้าสำคัญขึ้นหลายเมือง ได้แก่ ซามาร์คานด์ (Samarkand) บุคคารา (Bukhara)  และ คีวา (Khiva)

 
 

            สถานการณ์ด้านสังคม ปัญหาความยากจน การว่างงาน ระบบสุขอนามัยที่ไม่ได้มาตรฐาน และยาเสพติด ปัญหาสภาวะแวดล้อมด้านทรัพยากรน้ำ เป็นปัญหาสำคัญในอุซเบกิสถาน