ยูเครน

Country Profile : Ukraine

 

 

 

 

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

 

ข้อมูลทั่วไป

 
เมืองหลวง

เคียฟ  (Kiev)  ประชากรจำนวน  2.8 ล้านคน  เป็นเมืองหลวงเก่าของอาณาจักรคีฟรุสโบราณ (Kievan Rus) และเป็นเมืองใหญ่อันดับ 3 ในสมัยอดีตสหภาพโซเวียตรองจากมอสโก และเซ็นปีเตอร์สเบิร์ก

 
พื้นที่

603,700 ตารางกิโลเมตร (ใหญ่เป็นอันดับสองในยุโรป รองจากรัสเซีย) มีแม่น้ำสายสำคัญของทวีปยุโรปไหลผ่าน ได้แก่ แม่น้ำดนีเปอร์ แม่น้ำดนีสเตอร์ และแม่น้ำดานูบ ซึ่งไหลลงสู่ทะเลดำ

 
ประชากร

47.1  ล้านคน (ค.ศ. 2004) ชาวยูเครนร้อยละ 77.8  ชาวรัสเซียร้อยละ 17.3   อื่นๆ ร้อยละ 4.9

 
ภาษา

ภาษายูเครน หรือ Little Russian (ตระกูลภาษาสลาฟ)  และมีการใช้ภาษารัสเซียอย่างกว้างขวาง

 
ศาสนา

คริสต์นิกาย Ukrainian Orthodoxy ร้อยละ 85   นิกาย Ukrainian Greek Catholicism ร้อยละ 10 นิกาย Protestant ร้อยละ 3    และอื่นๆ ได้แก่ โรมันคาทอลิก ยิว  อิสลาม ร้อยละ 2

 
สกุลเงิน

กรีฟนา (Hryvnia-UAH)  1 USD = 5.05  UAH  (มี.ค. 2006)

 
เวลา

เร็วกว่ามาตรฐาน GMT 2  ชั่วโมง   (ช้ากว่าไทย 5 ชั่วโมง)

 
การปกครอง
ประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ
 
ประธานาธิบดี
นาย  Viktor Yushchenko  
 
นายกรัฐมนตรี
นาย Yuriy  Yekhanurov
 
 

ข้อมูลเศรษฐกิจ  (2004)

 
GDP
64.85 พันล้าน USD (2004)
 
GDP Growth
ร้อยละ 12 (2004)
 
GNI per capita  
1,260  USD (2004)
 
อัตราเงินเฟ้อ
ร้อยละ 12 (2004) 
 
ประชากรที่มีชีวิตต่ำกว่าระดับความยากจน* 
ร้อยละ 29  (ประมาณการปี ค.ศ.2003)  
 
อัตราการว่างงาน
ร้อยละ 3.5 (2004)
 
ทรัพยากรธรรมชาติ

พื้นที่ทำการเกษตรกรรมกว้างใหญ่ ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ แร่ธาตุ ป่าไม้

 
ผลิตภัณฑ์ทางเกษตรกรรม

ธัญพืช  น้ำตาลจากหัวบีท  เมล็ดดอกทานตะวัน  ผัก  เนื้อ นม

 
อุตสาหกรรมหลัก

ถ่านหิน พลังงานไฟฟ้า อุตสาหกรรมเหล็กและแปรรูปเหล็ก  การผลิตอุปกรณ์ขนส่ง เคมีภัณฑ์ น้ำตาล

 
มูลค่าการส่งออก (FOB)

33.4 พันล้าน USD (2004)

 
สินค้าส่งออก   

เหล็กและสินแร่ โลหะต่างๆ เคมีภัณฑ์  ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เครื่องจักรกลและชิ้นส่วนผลิตภัณฑ์อาหาร

 
ตลาดส่งออกที่สำคัญ

รัสเซีย  18 % เยอรมนี 5.8 % ตุรกี 5.7 % อิตาลี 5 %

 
มูลค่าการนำเข้า (FOB)

29.7 พันล้าน USD (2004)

 
สินค้านำเข้าสำคัญ
พลังงาน เครื่องมือเครื่องจักร เคมีภัณฑ์ อาหารและสินค้าเกษตรแปรรูป
 
แหล่งนำเข้าสินค้า

รัสเซีย  39.8 % เยอรมนี  9.2 % เตอร์กเมนิสถาน 6.6 % อิตาลี  2.7 %

 
หนี้ต่างประเทศ
20.6 พันล้าน USD ( 2004
 

*ที่มาข้อมูลเศรษฐกิจ : EIU, IMF, CIA The World Factbook

 
 

รู้เรื่องยูเครน * * * *

 

คนยูเครน (Ukrainians) มาจากไหน ?

 

             ชาวยูเครนสืบเชื้อสายมาจากชาวสลาฟ (Slavs) ตะวันออก ผสมกับกลุ่มเชื้อชาติที่ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณตอนเหนือของทะลดำ ซึ่งได้แก่รัสเซีย โปแลนด์ มอลโดวา และสโลวาเกีย  รวมเข้ากับกลุ่มคนเร่ร่อน (nomadic tribes) ในดินแดนดังกล่าวที่พูดภาษาเปอร์เซีย  ภาษาเยอรมัน และเติร์ก  โดยจัดอยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์สลาฟเชื้อสายที่ใกล้เคียงกับรัสเซีย และเบลารุส ส่วนคำว่า “ยูเครน” มีรากมาจากภาษาสลาฟโบราณ  ซึ่งคล้ายคลึงกับคำในภาษารัสเซียที่แปลว่า “ชายแดน”  และคล้ายกับคำในภาษายูเครนที่แปลว่า “ประเทศ”

 

             นักประวัติศาสตร์เชื่อว่าชาว Nomad โดยเฉพาะชาว Scythian เป็นพวกแรกที่เข้ามาตั้งหลักแหล่งในยูเครนในช่วงก่อนคริสตกาล  หลังจากนั้น ชาวเผ่าสลาฟได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณตอนกลางและตะวันออกของยูเครน อย่างไรก็ดี ชนชาติสำคัญที่มีบทบาทในการรวบรวมดินแดนบริเวณนี้ให้เป็นปึกแผ่นคือชาว  รุส (Rus) ที่มาจากสแกนดิเนเวีย  โดยต่อมาชาวรุสได้สถาปนาอาณาจักร Kievan Rus ขึ้นในศตวรรษที่ 6 และปกครองชาวสลาฟที่อาศัยอยู่ในดินแดนแถบนี้ และได้ขยายดินแดนออกไปรวบรวมเผ่าสลาฟและชนชาติต่างๆ จนเป็นอาณาจักรที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปในศตวรรษที่ 11  แต่ในศตวรรษที่ 12 อาณาจักรนี้ได้เสื่อมสลายลง เนื่องจากสงครามระหว่างเจ้าผู้ครองนครต่างๆ  และการรุกรานจากชาวมองโกลในศตวรรษต่อมา   หลังจากนั้น ดินแดนบางส่วนของยูเครนได้ถูกผนวกรวมกับอาณาจักรต่างๆ อาทิ ลิทัวเนีย โปแลนด์ ออสโตร-ฮังกาเรียน และรัสเซีย

             ในช่วงแรกของสงครามโลกครั้งที่สอง ชาวยูเครนให้การสนับสนุนกองทัพของนาซีเยอรมันเพื่อเป็นอิสระจากสหภาพโซเวียต แต่ต่อมาได้หันไปต่อต้าน เนื่องจากกองทัพเยอรมันปกครองอย่างกดขี่และทารุณ โดยในช่วงดังกล่าว ชาวยิวในยูเครนกว่า 1 ล้านคนถูกสังหารหมู่ และกรุงเคียฟถูกเผาทำลาย   อย่างไรก็ดี หลังจากที่กองทัพนาซีบุกโปแลนด์ในปี ค.ศ. 1939  ดินแดนส่วนตะวันตกของยูเครนที่เดิมอยู่ภายใต้โปแลนด์ได้ถูกผนวกรวมกับสหภาพโซเวียต

             หลังสงครามโลกครั้งที่สอง  กระแสชาตินิยมในยูเครนขยายตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง  ด้วยเหตุผลต่างๆได้แก่  ความไร้ประสิทธิภาพของระบบสหภาพโซเวียต  ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วสหภาพโซเวียต และการพยายามปิดบังข้อมูลของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหภาพโซเวียตต่อกรณีการระเบิดของโรงงานปฏิกรณ์ปรมาณู Chornobyl ที่ตั้งอยู่ในยูเครนในปี ค.ศ. 1986  และเมื่อประธานาธิบดีกอร์บาชอฟดำเนินนโยบายเปิดกว้างทางการเมือง  ได้ส่งผลให้รัฐบาลของสหภาพโซเวียตจำเป็นต้องให้อำนาจแก่สาธารณรัฐและดินแดนปกครองตนเองต่างๆ มากขึ้น  กระแสการเรียกร้องสิทธิที่จะปกครองตนเองในยูเครนดำเนินไปอย่างเข้มแข็ง และในที่สุดยูเครนได้ประกาศเอกราชจากสหภาพโซเวียตเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ค.ศ. 1991 ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ. 1991 ชาวยูเครนได้ลงประชามติให้ยูเครนประกาศเอกราชจากสหภาพโซเวียต

 

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับยูเครนตำนานนักรบเร่ร่อนชาวคอซแสคส์ (Cossacks)

คอซแสคส์ (Cossacks) เป็นชื่อเรียกกลุ่มเร่ร่อนพวกหนึ่งที่อาศัยอยู่ บริเวณตอนใต้ของทุ่งหญ้าสเตปปส์อันกว้างใหญ่ไพศาล (ตะวันออกของยูเครนและทางใต้ของรัสเซีย) พวกเร่ร่อนพวกนี้ส่วนใหญ่เป็นชาวยูเครน ที่สืบเชื้อสายมาจากสลาฟและมองโกล  ชาวคอซแสคส์นับถือศาสนาคริสต์ เป็นพวกบูชาเสรีภาพ และรักการผจญภัย รวมทั้งเชี่ยวชาญการสู้รบบนหลังม้าเช่นเดียวกับชาวมองโกล  เป็นกลุ่มแรกที่ปฏิเสธการถวายเครื่องราชบรรณาการให้แก่ข่านของอาณาจักรมองโกล  และทำสงครามต่อต้านระบบการปกครองมองโกล-ตาตาร์ในช่วงศตวรรษที่ 14-15 กล่าวได้ว่าพวกคอซแสคส์เป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งของการเสื่อมสลายของอาณาจักรมองโกล

             ภายหลังที่อาณาจักรมองโกลล่มสลายไปแล้ว วกคอซแซคส์เข้าร่วมอยู่ในจักรวรรดิรัสเซียและมีบทบาทในฐานะทัพหน้าที่แข็งแกร่งของอาณาจักรรัสเซียในการขยายดินแดนไปยังไซบีเรียและตะวันออกไกล

 
 

ยูเครนหลังได้รับเอกราชจากสหภาพโซเวียต

           พัฒนาการทางการเมืองและเศรษฐกิจในยูเครนภายหลังการแยกตัวจากสหภาพโซเวียต เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ.1991 แบ่งออกเป็น 2 ช่วงได้ ดังนี้

           สมัยการบริหารประเทศของประธานาธิบดี Leonid Kravchuk (ค.ศ. 1991-1994)

           หลังการประกาศเอกราช  ยูเครนได้เปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตยและมีการเลือกตั้งขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ. 1991 โดยนาย Leonid Kravchuk อดีตประธานรัฐสภา   ยูเครนได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนแรก  ประธานาธิบดี Kravchuk ได้เริ่มกระบวนการสร้างชาติ และปฏิรูประบบเศรษฐกิจของประเทศไปสู่ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีแบบตะวันตก อย่างไรก็ดี ในภาพรวม สถานการณ์การเมืองภายในประเทศยังสับสนวุ่นวาย อาทิ การประท้วงของกลุ่มที่นิยมระบอบคอมมิวนิสต์  ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มปฏิรูปเศรษฐกิจกับกลุ่มอนุรักษ์นิยม  ความขัดแย้งระหว่างประธานาธิบดีกับนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับมาตรการปฏิรูปเศรษฐกิจ   ปัญหาการเรียกร้องเอกราชของไครเมีย  ปัญหาเงินเฟ้อและเศรษฐกิจตกต่ำ เป็นต้น

           สมัยการบริหารประเทศของประธานาธิบดี Leonid Kuchma (.. 1994-2005)

           นาย Leonid Kuchma อดีตผู้อำนวยการใหญ่ของโรงงานผลิตหัวรบขีปนาวุธของสหภาพ  โซเวียตที่เมืองดนีโปรเปตรอฟสค์ (Dnepropetrovsk)  ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1994  โดยได้ประกาศนโยบายการปฏิรูปเศรษฐกิจแนวทางใหม่และการสร้างความสมดุลในการดำเนินความสัมพันธ์กับรัสเซียและตะวันตกในนโยบายต่างประเทศ  แต่ในภาพรวม ประชาชนไม่พอใจในผลงานของรัฐบาล  รวมทั้งได้มีรายงานข่าวในทางลบเกี่ยวกับประธานาธิบดี Kuchma และคณะรัฐบาลหลายครั้ง อันส่งผลให้ เมื่อนาย Kuchma หมดวาระการดำรงตำแหน่งในปี ค.ศ. 2004  ประชาชนในยูเครนได้รวมตัวกันชุมนุมต่อต้านระบบของนาย Kuchma และผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่ไม่โปร่งใส โดยมีนาย Viktor Yushchneko ผู้นำฝ่ายค้านเป็นแกนนำ การชุมนุมเคลื่อนไหวในยูเครนครั้งนี้ รู้จักกันในชื่อเรียก “Orange Revolution” ซึ่งส่งผลให้นาย Yushchenko ผู้นำฝ่ายค้าน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ และยุโรป ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดียูเครนในเวลาต่อมา

 

 

ยูเครนในปัจจุบัน

           สถานการณ์การเมือง  นาย Viktor Yushchenko ผู้นำใน Orange Revolution ได้เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 23 มกราคม ค.ศ.  2005  โดยมีนาง Yulia Timoshenko พันธมิตรใน Orange Revolution ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี  อย่างไรก็ดี  ประชาชนได้แสดงความไม่พอใจต่อประสิทธิภาพในการบริหารประเทศของรัฐบาลและความล่าช้าในการปฏิรูปเศรษฐกิจ  ยิ่งไปกว่านั้น การที่ประธานาธิบดี Yushchenko ได้ปลดนาง Timoshenko ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2005
เนื่องจากความไม่ลงรอยในการบริหารประเทศ พร้อมกับหันไป “จับมือ” กับนาย Yanukovich หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านและอดีตคู่แข่งทางการเมือง  ได้ก่อให้เกิดคำถามเกี่ยวกับเอกภาพและความศักดิ์สิทธิ์ของ Orange Revolution  

           ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของยูเครนเมื่อวันที่ 26 มี.ค. 49  ปรากฏว่า พรรคของนาย Yushchenko ได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนเป็นอันดับที่ 3 รองจากอันดับที่ 1 คือพรรคของนาย Yanukovich และอันดับที่ 2 คือพรรคของนาง Timoshenko  ซึ่งต้องมีการเจรจาสร้างพันธมิตรเพื่อจัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้น จะเป็นอีกตัวแปรหนึ่งที่กำหนดเสถียรภาพและทิศทางการเมืองและการปฏิรูปเศรษฐกิจของยูเครนในอนาคต 

           สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ  เศรษฐกิจของยูเครนเติบโตประมาณร้อยละ 5 ในช่วงปี ค.ศ. 200-2004 ก่อนที่จะเติบโตช้าลงในปี ค.ศ. 2005 อันสืบเนื่องจากสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง  ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองที่ยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบันยังส่งให้การลงทุนจากต่างประเทศชะลอตัว  และก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อสูงอย่างต่อเนื่อง  นอกจากนี้  อุตสาหกรรมส่งออกหลักของประเทศ คือ อุตสาหกรรมเหล็กและผลิตภัณฑ์จากเหล็ก ซึ่งเป็นแหล่งรายได้เข้าประเทศที่สำคัญ ต้องประสบผลกระทบจากราคาเหล็กในตลาดโลกที่ต่ำลง  อัตราว่างงานยังอยู่ในระดับสูง ในขณะที่อัตราค่าจ้างต่ำ (ประมาณ 180 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน)

           สถานการณ์ทางด้านการต่างประเทศ  หลัง Orange Revolution นโยบายต่างประเทศของยูเครนได้ปรับทิศทางให้ใกล้ชิดกับตะวันตกมากขึ้น โดยอาศัยการยอมรับจากตะวันตกในฐานะประเทศที่เป็นตัวอย่างการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในยุโรปตะวันออก มาใช้เป็นประโยชน์ในการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่มุ่งสู่ตะวันตก โดยเฉพาะการเข้าเป็นสมาชิกองค์การ NATO ในขณะเดียวกันก็รักษาสถานะพิเศษในความสัมพันธ์กับรัสเซียพร้อมกับพยายามให้รัสเซียยอมรับความเสมอภาคในฐานะรัฐเอกราช

           อย่างไรก็ดี เมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 2006 ได้เกิดกรณีขัดแย้งระหว่างยูเครนกับรัสเซีย อันสืบเนื่องจากการที่รัสเซียได้ปรับราคาก๊าซที่ขายให้กับยูเครนสูงขึ้นกว่า 2 เท่า ส่งผลให้เกิดวิกฤตการณ์ด้านพลังงานขึ้นในยูเครน และสร้างความกังวลให้แก่ยุโรปซึ่งนำเข้าก๊าซส่วนใหญ่จากรัสเซียผ่านยูเครน  แม้ว่ายูเครนจะยอมจ่ายราคาค่าก๊าซตามที่รัสเซียต้องการ แต่สถานการณ์ดังกล่าวก็ได้ทำให้ทั้งสองประเทศดำเนินความสัมพันธ์กันอย่างระมัดระวัง