รัสเซีย

Country Profile : Russia

 

ระบบเศรษฐกิจ

 

พัฒนาการทางเศรษฐกิจของรัสเซีย

            ภายหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปีค.ศ. 1991  เศรษฐกิจของรัสเซียผ่านการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ 3 ครั้ง การแปรทรัพย์สินของรัฐวิสาหกิจให้เป็นของคนงานและกรรมกรหรือที่เรียกกันว่า Voucher  Privatization และการยกเลิกการควบคุมราคาสินค้า (Price Liberalization) ระหว่างค.ศ.1992-1994 ถือเป็นการปฏิรูประบบเศรษฐกิจจากการวางแผนส่วนกลางไปสู่ระบบตลาดเป็นครั้งแรกและสะท้อนเจตนาที่ดีของผู้นำรัฐบาลสายเสรีนิยมซึ่งนำโดยนายกรัฐมนตรี Egor Gaidar ที่ต้องการวางรากฐานเพื่อให้กลไกตลาดเข้าทำหน้าที่แทนระบบการสั่งการจากส่วนกลางและสร้างผู้ประกอบเอกชนให้เข้าแทนที่การผูกขาดโดยรัฐ   แต่ผลของการปฏิรูปในขั้นนี้แทนที่จะสร้างผู้ประกอบการเสรีขึ้นมาจากมาตรการการดำเนินนโยบายการแปรรูปทรัพย์สิน กลับเป็นการเปลี่ยนมือผู้ถือครองทรัพย์สินของรัฐจากรัฐบาลมาอยู่ในมืออดีตเจ้าหน้าที่รัฐบาลและผู้บริหารรัฐวิสาหกิจแทน ซึ่งคนกลุ่มนี้ได้กว้านซื้อหุ้นราคาถูกของรัฐวิสาหกิจที่ถูกแปรรูปเพื่อให้เป็นของคนงาน มาเป็นของตนเองและบริวาร  ดังนั้น การแปรรูปดังกล่าวแทนที่จะสร้างผู้ประกอบการเสรีหรือชนชั้นกลางขึ้นมาเป็นรากฐานให้กับระบบทุนนิยมเสรี กลับสร้างชนชั้นคณาธิปไตย (Oligarch) ที่มีอำนาจทั้งทางเศรษฐกิจและทางการเมืองขึ้นมา และชนชั้นดังกล่าวได้รวบการผลิตทั้งหมดของสังคมให้เป็นของตนและพวกพ้อง  ประกอบกับการดำเนินนโยบายปล่อยให้ราคาสินค้าลอยตัว(trade liberalization) ในปีเดียวกัน ช่วยให้คณาธิปไตยร่ำรวยขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นทวีคูณจากการจำหน่ายสินค้าผูกขาดที่ผลิตในสมัยสหภาพโซเวียตที่กักตุนไว้ ซึ่งเป็นสินค้าที่ไม่มีต้นทุน ในราคาลอยตัวตามตลาด ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศต้องซื้อสินค้าในราคาที่สูง ในขณะที่มีรายได้ต่ำ  และโดยที่การเข้าครอบครองทรัพย์สินของรัฐโดยพวกคณาธิปไตยเป็นวิถีทางที่แม้กระทำได้ตามนโยบายและกฎหมายที่มีช่องโหว่ในเวลานั้น แต่ไม่สุจริตและไม่เป็นธรรมในแง่การแข่งขันและการกระจายทางเศรษฐกิจ  คณาธิปไตยที่เข้าสู่ธุรกิจก่อนก็จะเป็นนักผูกขาด ส่วนคณาธิปไตยที่เข้าสู่ธุรกิจทีหลัง ก็ไม่มีหนทางอื่นนอกจากการใช้ความรุนแรงเข้าแย่งชิง การตัดสิน   ข้อพิพาทในการแย่งชิงทรัพย์สินระหว่างคณาธิปไตยด้วยกันเองจึงไม่อาจทำได้ตามวิถีทางแห่งกฎหมาย  ระบบเศรษฐกิจมาเฟียและการแข่งขันที่มีแต่ความรุนแรงจึงก่อตัวและเติบโตขึ้นในรัสเซียตั้งแต่นั้นมา

            อย่างไรก็ตาม ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมได้ขับเคลื่อนไปในรัสเซียพร้อมกับการสร้างกฎเกณฑ์และโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการพัฒนา ในระหว่างปีค.ศ. 1994-1997 ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งที่ 2 รัฐบาลรัสเซียภายใต้นายกรัฐมนตรี Victor Chernomyrdin ได้เร่งการใช้มาตรการเปิดเสรีทางการค้าต่างประเทศเพื่อส่งเสริมการส่งออก  แปรรูปกรรมสิทธ์ในอาคาร ที่อยู่อาศัย ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยให้เป็นของเอกชนและปรับปรุงระบบภาษี ระบบเงินตรา ระบบธนาคารและกฎเกณฑ์การนำผลกำไรออกนอกประเทศ เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งเงินลงทุนของชาวรัสเซียที่อยู่นอกประเทศ ให้ย้ายกลับเข้ามาลงทุนในรัสเซีย และปรับปรุงระบบการจัดเก็บภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนของผู้ประกอบการเพื่อเพิ่มผลผลิตที่ตกต่ำให้กลับมาอยู่ในระดับปกติ  แต่เศรษฐกิจของรัสเซียประสบภาวะวิกฤตพร้อมไปกับวิกฤติการณ์ทางการเงินของโลกระหว่างปีค.ศ.1998-1999   การสิ้นสุดอำนาจทางการเมืองของอดีตประธานาธิบดีบอริส เยลต์ซินและการก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำรัสเซียของนายวลาดิมีร์ ปูติน เลขาธิการสภาความมั่นคงและอดีตผู้อำนวยการสำนักงานความมั่นคงหรือ KGB เดิมซึ่งเป็นผู้กุมความลับของมาเฟียเศรษฐกิจในรัสเซีย สะท้อนถึงความจำเป็นที่รัสเซียจะต้องมีผู้ที่จะนำเศรษฐกิจรัสเซียไปสู่ความมีกฎมีเกณฑ์และโปร่งใส  และเป็นสังคมที่มีระเบียบและปลอดภัย

            ระหว่างปีค.ศ. 1999-ปัจจุบัน เศรษฐกิจรัสเซียปรับตัวไปสู่ความมีกฎระเบียบมากขึ้นพร้อมกับการดำเนินนโยบายปราบปรามมาเฟียเศรษฐกิจของประธานาธิบดีปูติน เศรษฐกิจของรัสเซียในขั้นตอนที่ 3 นี้แสดงถึงการเจริญเติบโตและการขยายตัวของผลผลิตอย่างขนานใหญ่ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่สวนกับกระแสเศรษฐกิจของโลกที่ยังทรงตัวสลับชะลอตัวในเวลานั้น ซึ่งมีปัจจัยสำคัญจากการขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลก แม้ว่าจะมิได้เกิดจากการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตของรัสเซียแต่อย่างใด  เศรษฐกิจของรัสเซียขยายตัวในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 5 งบประมาณแผ่นดินเกินดุลในระดับร้อยละ 1 ของ GDP และอัตราแลกเปลี่ยนของเงินรูเบิลกับเงินดอลลาร์คงตัวอยู่ที่ 30-32 รูเบิลและแข็งตัวมากขึ้นตั้งแต่ต้นปีค.ศ. 2004 เป็นต้นมา จนมาถึงระดับ 28 รูเบิล ในช่วงต้นปี ค.ศ. 2006ทั้งนี้ อยู่ที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกเป็นเงื่อนไขสำคัญด้วย คือราคาน้ำมันในตลาดโลกจะต้องไม่ลดลงต่ำกว่าระดับ 24 ดอลลาร์ต่อ 1 บาเรล  ทั้งนี้ การขึ้นราคาในทุกๆ 1 บาเรลของน้ำมันในตลาดโลกจะทำให้รัสเซียมีรายได้เข้าประเทศเพิ่มขึ้น 1 พันล้านดอลลาร์

 

ข้อมูลด้านเศรษฐกิจ (ปี 2004)

 
Total  GDP

582.3  พันล้าน USD    (ปี ค.ศ. 2004) (มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าของไทย 3.5 เท่า (163 พันล้าน USD)  เล็กกว่าประเทศจีน 2.8 เท่า (1.64 ล้านล้าน USD)  เล็กกว่าญี่ปุ่น 8 เท่า (4.62 ล้านล้าน USD) และเล็กกว่าสหรัฐอเมริกา 20 เท่า (11.6 ล้านล้านดอลลาร์)

 
GDP per capita
3,975 USD (2004)
 
GNI per capita
3,410 USD (2004)
 
GDP ตามโครงสร้างเศรษฐกิจ

     

ภาคการเกษตร

ภาคอุตสาหกรรม

ภาคบริการ    

 

ร้อยละ 5

ร้อยละ 36

ร้อยละ 58.9 

 
GDP Growth

 

ร้อยละ 6.4  (2005)       
 
ร้อยละ 7.1 (2004)
 
อัตราเงินเฟ้อ   
 
ร้อยละ 11.5 (2004)
   
 
ประชากรที่มีชีวิต
ต่ำกว่าระดับความ
ยากจน*

ร้อยละ 17.8 (2004)  หรือประมาณ 25.6  ล้านคน
(เส้นความยากจนในรัสเซียโดยเฉลี่ยวัดที่รายได้บุคคลไม่เกิน 2,396 รูเบิล หรือ ประมาณ 80 USD ต่อเดือน)

 
มูลค่าการส่งออก (FOB)
183.4  พันล้าน USD (2004)
 
สินค้าส่งออกสำคัญ
น้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์จากน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ โลหะ  เหล็ก เคมีภัณฑ์
 
ตลาดส่งออกที่สำคัญ

เยอรมนี (7.9%)  เนเธอร์แลนด์ (6.1%)  จีน (6.1%)  สหรัฐฯ (5.7%)

 
มูลค่าการนำเข้า 
96.3  พันล้าน USD (2004)
 
สินค้านำเข้าสำคัญ
เครื่องจักรกลและอุปกรณ์ขนส่ง อาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าเกษตร เคมีภัณฑ์ โลหะ
 
ตลาดนำเข้าสินค้า
เยอรมนี (13.%)  ยูเครน (5.8%) จีน (5.8%) อิตาลี (5.1%)
 
หนี้ต่างประเทศ
211.4 พันล้าน USD (ประมาณการปี 2004 )
 
 

อุตสาหกรรม

 

            ในปี ค.ศ. 2005  รัสเซียมีอัตราการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมร้อยละ 4  อย่างไรก็ดี  การพัฒนาอุตสาหกรรมในรัสเซียมีลักษณะไม่สมดุล เน้นหนักในภาคพลังงานโดยเฉพาะ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน  ภาคการผลิตเครื่องจักรกลและอุปกรณ์ โดยเฉพาะ อากาศยาน  อุปกรณ์และอากาศยานที่ใช้ในกิจการอวกาศ การต่อเรือ การผลิตอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ เครื่องจักรกลการเกษตร อุปกรณ์การก่อสร้างและเครื่องมือสื่อสาร ภาคอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ และโลหะ  ในขณะที่อุตสาหกรรมเบา  อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องอุปโภคและบริโภคเติบโตอย่างอ่อนแอและมีผลผลิตไม่เพียงพอในการตอบสนองความต้องการพื้นฐานของประชาชน  ความไม่สมดุลในการพัฒนาดังกล่าวทำให้รัสเซียเป็นผู้นำในการส่งออกพลังงานแต่เป็นประเทศที่ขาดแคลนและต้องนำเข้าสินค้าอาหาร  เครื่องนุ่งห่มและสิ่งอำนวยความสะดวกสบายแก่ชีวิตของประชาชน

 

ภาคพลังงาน

            น้ำมัน

            รัสเซียเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่เป็นอันดับสองของโลก (รองจากซาอุดิอาระเบีย)  โดยมีน้ำมันสำรองประมาณ 60 พันล้านบาเรล  ในปี 2005 รัสเซียผลิตน้ำมันได้ประมาณ  9.5 ล้านบาเรลต่อวัน โดยผลิตได้เพิ่มขึ้นจากปี 2004 ร้อยละ 2.5  ในปริมาณนี้ใช้บริโภคภายในประเทศ 2.6 ล้านบาเรลต่อวัน และส่งออก 6.8 ล้านบาเรลต่อวัน  ทั้งนี้ น้ำมันดิบเป็นสินค้าส่งออกสำคัญที่นำรายได้เข้าประเทศถึงร้อยละ 50 ของรายได้แผ่นดินทั้งหมด และเป็นที่มาของรายได้ที่นำไปใช้หนี้ต่างประเทศของรัสเซีย  ทั้งนี้  น้ำมันดิบที่ผลิตได้ในรัสเซียร้อยละ 70 จะส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยผู้ซื้อสำคัญ ได้แก่  สหราชอาณาจักร  ฝรั่งเศส  อิตาลี  เยอรมนี  และสเปน   ที่เหลือประมาณร้อยละ 30 จะถูกนำไปผ่านกระบวนการเพื่อใช้ภายในประเทศ 

 
     
 

รู้รอบรัสเซีย  :   กองทุน Stabilization Fund

            รายได้ที่เพิ่มมากขึ้นจากการส่งออกน้ำมัน พร้อมกับราคาน้ำมันในตลาดโลกที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้รัฐบาลของรัสเซียมีความกังวลว่า รายได้มหาศาลจากการส่งออกน้ำมัน จะก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อในประเทศอย่างรุนแรง ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชน  ดังนั้น ในปี ค.ศ. 2004  รัฐบาลรัสเซียจึงได้จัดตั้งกองทุน Stabilization fund ขึ้นเพื่อดึงรายได้บางส่วนจากการส่งออกน้ำมันมาเก็บไว้ในกองทุนดังกล่าว โดยปัจจุบัน (เดือน ก.พ. 2006 ) เงินที่เข้าสู่ Stabilization Fund มีมูลค่า 1.4591 ล้านล้านรูเบิ้ล หรือ 51.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณร้อยละ 7 ของ GDP ของรัสเซีย  ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2005 รัฐบาลรัสเซียได้นำเงินมูลค่า3.31 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ออกจากกองทุน Stabilization Fund เพื่อนำไปชดใช้หนี้ต่างประเทศ

 
     
 

            รัสเซียมีแผนที่จะพัฒนาเขตน้ำมันในไซบีเรียและในเกาะสะขะลินเพื่อเพิ่มการส่งออกไปยังประเทศในทวีปเอเชีย โดยเฉพาะ ญี่ปุ่น เกาหลีและจีน และกำลังร่วมมือกับคาซัคสถานในการพัฒนาแหล่งน้ำมันและท่อส่งน้ำมันจากทะเลสาบแคสเปียนไปยังประเทศจีนซึ่งคาดว่าจะเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของรัสเซียในทวีปเอเชีย   นอกจากนี้  รัสเซียกำลังพัฒนาเทอร์มินัลที่เมืองท่า Murmansk ทางภาคเหนือ และพัฒนาการเชื่อมท่อส่งน้ำมัน ดรูชบา (Druzhba) ของตนกับท่อลำเลียงน้ำมันอาเดรีย (Adria) ของโครเอเชียเพื่อส่งออกน้ำมันไปยังสหรัฐฯ ในอนาคตอันใกล้

 

            ก๊าซ

            รัสเซียเป็นประเทศที่มีแหล่งสำรองก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดของโลก ประมาณ 1,680 ล้านล้าน คิวบิคฟุตหรือเกือบสองเท่าของอิหร่านซึ่งประเป็นประเทศที่มีแหล่งสำรองก๊าซธรรมชาติอันดับสอง  รัสเซียเป็นประเทศที่ผลิตและส่งออกก๊าซธรรมชาติมากที่สุดในโลก โดยผลิตได้ประมาณ 22 ล้านล้านคิวบิคฟุตในปี 2004  โดย Gazprom เป็นบริษัทผู้ผลิตรายใหญ่ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ โดยส่งออกไปยังยุโรป ตุรกี ญี่ปุ่น และประเทศในเอเชียอื่นๆ

 
 

การคมนาคมขนส่ง

 

เส้นทางขนส่งทางรถไฟ

            เส้นทางขนส่งทางรถไฟในรัสเซีย มีความยาวทั้งสิ้น 87,157 กิโลเมตร ส่วนใหญ่ประมาณ 86,200 กิโลเมตรเป็นรางรถไฟในมาตรฐานของสหรัฐฯหรือแบบ broad gauge (ประมาณ 86,200 กิโลเมตร) และมีที่เป็น narrow gauge ประมาณ 957 กิโลเมตรบนเกาะสะขะลิน เส้นทางรถไฟของรัสเซียจะหนาแน่นในเขตยุโรป โดยมีกรุงมอสโกเป็นศูนย์กลาง

            เส้นทางที่สำคัญ ได้แก่

            1.  เส้นทางสายทรานส์ไซบีเรีย (Trans Siberia) เริ่มต้นที่กรุงมอสโกไปสุดทางที่เมืองท่า วลาดิวอสต๊อก (Vladivostok) ทางฝั่งแปซิฟิก

            2.  สายไบคาล-อามูร์ (Baikal-Amur Magistral) แยกจากทรานส์ไซบีเรียที่เมืองคราสโนยาร์สค์(Krasnoyarsk) เพื่อเข้ามองโกเลียและจีน

            ในกรุงมอสโกมีสถานีรถไฟต้นทาง 8 สถานี ที่แยกไปทุกทิศทุกทางของรัสเซียและเชื่อมกับเมืองสำคัญในต่างประเทศที่แต่เดิมเคยอยู่ในสหภาพโซเวียต คือ

            สถานีเลนินกราด หรือ “เลนินกราดสกี้ วัคซาล” (Leningradsky Vokzal) เป็นสถานีที่ใช้เดินทางไปยังนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กและเมืองต่างๆในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของรัสเซีย เช่น เมืองมูรมันสค์ (Murmansk) เมืองอาร์คานเกลสค์ (Arkhangelsk) เมืองเปโตรซาโวดสค์ (Petrozavodsk) นอฟกอร็อด (Novgorod) เป็นต้น นอกจากนี้ ยังสามารถเดินทางต่อไปยังสถานีที่เมืองวีบอร์ก (Vyborg) เพื่อเข้ากรุงเฮลซิงกิของฟินแลนด์ และเอสโตเนี

             -  สถานีเคียฟ หรือ “เคียฟสกี้ วัคซาล” (Kievsky Vokzal) เป็นสถานีเพื่อเดินทางไปยังเมืองต่างๆทางทิศตะวันตกและทิศตะวันตกเฉียงใต้ของรัสเซียและต่างประเทศ โดยมีเมืองสำคัญ ได้แก่ กรุงเคียฟของยูเครน เมืองท่า   โอเดสสา (Odessa) ของยูเครน  กรุงบราติสลาวาของประเทศสโลวาเกีย   กรุงปรากของสาธารณรัฐเช็ก  กรุงโซเฟียของประเทศบัลแกเรีย  กรุงบูคาเรสต์ของประเทศโรมาเนีย กรุงบูดาเปสต์ของประเทศฮังการีและสิ้นสุดปลายทางที่ กรุงเบลเกรดของประเทศเซอร์เบียและมอนเตเนโกร

            สถานีเบลารุส หรือ “เบลารุสสกี้ วัคซาล” ( Belorussky Vokzal) เป็นสถานีที่ไปยังเมืองสำคัญใน
ภาคตะวันตกและตะวันตกเฉียงใต้ของรัสเซีย รวมทั้งเมืองหลวงของประเทศยุโรปตะวันตก  ได้แก่ เมืองสโมเลนสค์(Smolensk) เมืองโปโลตสค์ (Polotsk) เมืองคาลินินกราด (Kaliningrad) เมืองเบรสต์ (Brest) กรุงมินสค์ของเบลารุสเพื่อต่อไปยังกรุงวอร์ซอของโปแลนด์ กรุงวิลนุส(Vilnius) ของลิธัวเนีย กรุงเบอร์ลิน เมืองโคโลญน์ และสิ้นสุดที่กรุงปารีสของฝรั่งเศส

             - สถานีคาซาน หรือ “คาซานสกี้ วัคซาล“ (Kazansky Vokzal)  เป็นสถานีในการเดินทางและขนส่งเพื่อไปยังเมืองทางทิศตะวันออก โดยเฉพาะเมืองสำคัญในเขตเทือกเขายูราล ไซบีเรียจนจรดเมืองท่าในเขตภาคตะวันออกไกลของรัสเซีย เช่น เมืองวลาดิวอสต๊อก (Vladivostok) และเมืองคาบารอฟสค์ (Khabarovsk)  เมืองทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของรัสเซีย เช่นกรุงอูลัน บาตอร์ (Ulan Bator) ของมองโกเลีย  จีน และเมืองทางทิศใต้ของรัสเซียในเขตเอเชียกลาง  ได้แก่ กรุงบิชเค็ก (Bishkek) ของคีร์กีซสถาน  กรุงทาชเคนท์ (Tashkent) ของอุซเบกิสถาน และนครอัลมาตี (Almaty) ของคาซัคสถาน เป็นต้น

            สถานีคูรสค์   หรือ “คูรสกี้ วัคซาล (Kursky Vokzal)” เป็นสถานีที่เชื่อมกับเมืองต่างๆทางทิศตะวันออกของรัสเซีย เช่น นิชนีนอฟกอร็อด (Nizhni-Novgorod)  ทางใต้ของรัสเซีย เช่น โนโว-รัสซีสสค์ (Novo-Russysk) วลาดิคาฟคัซ (Vladikavkaz)  ทางทิศตะวันออกของยูเครน เช่น เมืองดาเนียตสค์ ( Donetsk) เมืองสำคัญในคาบสมุทรไครเมีย เช่น เมืองซิมเฟอโรโปล (Zimferopol) และเมืองเซวาสโตโปล (Sevastopol) และเมืองทางภูมิภาคคอเคซัส เช่น กรุงทบิลิซี (Tbilizi) ของประเทศจอร์เจีย  กรุงบากู (Baku )ของอาเซอร์ไบจาน  และกรุงเยเรวาน(Yerevan) ของอาร์เมเนีย

            -  สถานีปาเวเลทสค์ หรือ “ปาเวเลทสกี้ วัคซาล”  (Paveletsky Vokzal) เป็นสถานีที่เชื่อมกับเมืองสำคัญของภูมิภาคเศรษฐกิจตอนใต้ ภูมิภาคเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำโวลก้าและเมืองท่าทางทะเลสาบแคสเปียน  ได้แก่ เมืองท่าโนโว-รัสซีสสค์   กรุงบากู เมืองซาราตอฟ (Saratov) เมืองซามารา(Samara)  และเมืองท่าอัสตราคานด์(Astrakhand)

            สถานีริชสกี้ หรือ “รีชสกี้ วัคซาล” (Rizhsky Vokzal) เป็นสถานีรถไฟสายพิเศษเชื่อมระหว่างกรุงมอสโกกับกรุงริก้า(Riga) เมืองหลวงของประเทศลัตเวีย แต่ผ่านสถานีสำคัญของรัสเซีย เช่นวิลิกี้ ลุกี้ (Veliky Luki) ด้วย

            - สถานียาโรสลาฟ หรือ “ยาโรสลาฟสกี้ วัคซาล” (Yaroslavsky Vokzal)เป็นสถานีที่เชื่อมกับภูมิภาคไซบีเรีย ภูมิภาคตะวันออกไกลของรัสเซีย มองโกเลียและจีน

 

เส้นทางขนส่งทางรถยนต์ 

            เส้นทางขนส่งทางรถยนต์ มีความยาว 952,000 กิโลเมตร เป็นถนนลาดยางหรือคอนกรีต 752,000 กิโลเมตร

 

เส้นทางขนส่งทางเรือ

            เส้นทางขนส่งทางเรือ 95,900 กิโลเมตร

            รัสเซียมีทางออกทะเลไปสู่  ทะเลบอลติค  ทะเลขาว ทะลแคสเปียน ทะเลอาซอฟ และทะเลดำ

            เมืองท่าที่สำคัญ : Aleksandrovsk-Sakhalinskiy, Arkhangel'sk, Astrakhan', De-Kastri, Indigirskiy, Kaliningrad, Kandalaksha, Kazan', Khabarovsk, Kholmsk, Krasnoyarsk, Lazarev, Mago, Mezen', Moscow, Murmansk, Nakhodka, Nevel'sk, Novorossiysk, Onega, Petropavlovsk-Kamchatskiy, Rostov, Shakhtersk, Saint Petersburg, Sochi, Taganrog, Tuapse, Uglegorsk, Vanino, Vladivostok, Volgograd, Vostochnyy, Vyborg

 

การพาณิชย์นาวี

            รัสเซียมีกองเรือขนส่งจำนวน 933 ลำ(ขนาด 1000 GRT ขึ้นไป) ความสามารถในการขนส่ง 4,495,122 GRT เป็นเรือขนส่งแบบ Barge 1 ลำ เรือขนส่งขนาดใหญ่ 22 ลำ  เรือบรรทุกแบบ cargo 553 ลำ เรือบรรทุกเคมีภัณฑ์ 12 ลำ  เรือขนส่งผสมขนาดใหญ่  21 ลำ  เรือบรรทุกผสมน้ำมันและแร่ธาตุ 36 ลำ  เรือคอนเทนเนอร์ 30 ลำ เรือขนส่งเอนกประสงค์ขนาดใหญ่ 1 ลำ  เรือโดยสารขนาดใหญ่ 38 ลำ  เรือโดยสารและบรรทุกสินค้า  3 ลำ  เรือบรรทุกน้ำมัน 167 ลำ และ เรือบรรทุกห้องเย็น 21 ลำ

            ท่าเรือขนส่งทางเรือที่สำคัญได้แก่ กรุงมอสโกมีเส้นทางที่สำคัญ 2 ทางคือ

            1.ผ่านแม่น้ำมอสโกเพื่อเชื่อมกับแม่น้ำโวลก้าออกไปยังท่าเรือโนโวรัสซีสสค์ (Novo-Russysk) ที่ทะเลดำ และไปยังท่าเรืออาสตราคานด์(Astrakhand) ที่ทะเลสาบแคสเปียน และ

            2. ผ่านคลองขุดเพื่อไปเชื่อมท่าเรือที่นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเพื่อออกทะเลบอลติก  นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กและเมืองคาลินินกราด(Kaliningrad) ออกทะเลบอลติก  เมืองอาร์คานเกลส์ (Arkhangelsk) ที่ทะเล White Sea เมืองมูร์มันสค์ (Murmansk) ที่ทะเลเบรนต์   เมืองท่าวลาดิวอสต๊อก(Vladivostok) และเมืองนาโฮดก้า(Nakhodka)เพื่อออกมหาสมุทรแปซิฟิก

 

การขนส่งทางอากาศ

            รัสเซียมีท่าอากาศยาน 2,743 แห่ง เป็นท่าอากาศยานที่ปรับปรุงพื้นผิว (ลาดคอนกรีตหรือลาดยาง) 471 แห่ง

            ท่าอากาศยานนานาชาติ (International Airport) อยู่ในเมืองที่เป็น Port of Entry  ไม่ต่ำกว่า 6 เมือง ได้แก่ กรุงมอสโกและนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กทางด้านทวีปยุโรป  เมืองโนโว-ซีบีรสค์ (Novo-Sibirsk) ทางภูมิภาค ไซบีเรีย  เมืองวลาดิวอสต๊อก (Vladivostok) และเมืองคาบารอฟสค์ (Khabarovsk)ทางทวีปเอเชีย

            ในกรุงมอสโก มีท่าอากาศยานนานาชาติ 4แห่งได้แก่

            1.  สนามบินเชเรมีเทียโว หมายเลข 2 (Sheremetyevo II)  ในอดีต ท่าอากาศยานแห่งนี้เป็น
ท่าอากาศยานนานาชาติที่เชื่อมระหว่างกรุงมอสโกกับประเทศต่างๆทั่วโลกนอกสหภาพโซเวียต  ในปัจจุบัน ยังคงเป็นท่าอากาศยานนานาชาติแห่งเดียวที่ใช้เดินทางไปยังจุดหมายปลายทางของประเทศต่างๆ ที่อยู่นอกประเทศเครือรัฐเอกราช CIS

            สนามบินเชเรมีเทียโว หมายเลข 2  ตั้งอยู่บนถนนหลวงสายเลนินกราดสกี้ ไฮเวย์(Leningradskoe Shosse) ห่างจากกรุงมอสโกไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 30 กิโลเมตร ในทิศทางเดียวที่จะเดินทางไปนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก  ใช้เวลาเดินทางจากใจกลางกรุงมอสโกถึงสนามบินประมาณ 1 ชั่วโมงถึง 2 ชั่วโมงครึ่ง (ในช่วงที่การจราจรติดขัด) นอกจากนี้ สนามบินเชเรมีเทียโว หมายเลข 2  ยังเป็นที่ตั้งของสำนักงานสายการบินนานาชาติเกือบทุกสายการบิน   สำนักงานของบริษัทขนส่งและสำนักงานบริการรถเช่าทุกบริษัท  มีโรงแรมสนามบินระดับ 3 ดาวและ 4 ดาวให้บริการผู้โดยสารที่ต้องการพัก ในเวลาที่มีความจำเป็นต้องรอเปลี่ยนเครื่อง

            2.  สนามบินเชเรมีเทียโว หมายเลข 1 (Sheremetyevo I) ในอดีตเป็นสนามบินภายในประเทศที่เชื่อมระหว่างกรุงมอสโกกับนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก และเมืองหลวงของอดีตสาธารณรัฐแถบทะเลบอลติก  แต่ปัจจุบันภายหลังจากที่ประเทศในกลุ่มทะเลบอลติกแยกตัวเป็นประเทศเอกราชแล้ว สนามบินเชเรมีเทียโว หมายเลข 1 จึงมีสถานะเป็นสถานีนานาชาติไปโดยปริยาย  
    สนามบินนี้ตั้งอยู่ในทิศทางเดียวกันกับ Sheremetyevo II  โดยห่างจาก Sheremetyevo II ประมาณ 10-15 นาทีโดยรถยนต์

            3.  สนามบินดามาเดี๊ยดดาวา (Domodedovo) เป็นสนามบินเพื่อเดินทางไปเมืองสำคัญทางทิศตะวันออก  ภูมิภาคไซบีเรีย  เมืองท่าฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกและทิศใต้ของประเทศ รวมทั้งประเทศในเอเชียกลางทุกประเทศ  เป็นสนามบินภายในประเทศที่ได้รับการปรับปรุงให้มีมาตรฐานนานาชาติ สะดวกสบายและทันสมัย

            สนามบินดามาเดี๊ยดดาวาตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของกรุงมอสโก บนถนนไฮเวย์สายคาชิร์สโกเย (Kashirskoe Highway) หลักกิโลเมตรที่ 52 ใช้เวลาเดินทางจากใจกลางกรุงมอสโกถึงสนามบินหนึ่งชั่วโมงครึ่ง-สองชั่วโมงโดยรถยนต์ และ 40 นาทีโดยรถด่วนจากสถานีรถไฟปาวาเลทสค์จากกรุงมอสโก

            4.    สนามบินวนุโคโว (Vnukovo)  เป็นสนามบินเพื่อเดินทางไปยังเมืองสำคัญของประเทศยูเครน 4 แห่งได้แก่ กรุงเคียฟ  เมืองดาเนียตสค์  เมืองคาร์คอฟ   เมืองแหล่งน้ำมันทางทะเลสาบแคสเปียน เช่น อัคเตา(Aktau) เมืองอาตูร์เตา (Aturtau)

            สนามบินวนุโคโว ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของกรุงมอสโก บนหลักกิโลเมตรที่ 19 ของถนนบูรอฟสโกเย(Burovskoye Shosse) ใช้เวลาเดินทางจากใจกลางกรุงมอสโกประมาณ 1 ชั่วโมง

            ในนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก มีสนามบินนานาชาติ 2 แห่งคือสนามบินพูลโคโว 1 (Pulkovo 1)  และ
สนามบินพูลโคโว 2 (Pulkovo II) โดยใช้เดินทางภายในประเทศและภายนอกประเทศตามลำดับ

            ในเมืองโนโว-ซีบีรสค์  มีสนามบินนานาชาติ 1 แห่งเชื่อมกับบางประเทศในยุโรป ประเทศในเอเชียกลางและเอเชียตะวันออก 

            เมืองวลาดิวิสต๊อกและเมืองคาบารอฟสค์ มีสนามบินนานาชาติเมืองละ 1 แห่งเชื่อมกับจีน  เกาหลีเหนือ  เกาหลีไต้  ญี่ปุ่น  สิงคโปร์  ฟิลิปปินส์  เวียดนาม  ลาว กัมพูชา อินเดียและสหรัฐอเมริกาที่ Anchorage  นอกจากนี้ ยังมีสนามบินที่เกาะสะขะลิน (Sakhalin)เพื่อเชื่อมการติดต่อในกรณีพิเศษกับเมืองซัปโปโร (Sapporo)ของญี่ปุ่น

 

ท่อลำเลียงต่างๆ
 

ท่อลำเลียงน้ำมันยาว                  75,539              กิโลเมตร

ท่อส่งผลิตภัณฑ์จากน้ำมัน          13,771              กิโลเมตร

ท่อส่งก๊าซธรรมชาติ                   150,007            กิโลเมตร

 

            ท่อลำเลียงน้ำมันที่สำคัญมี  3  เส้นทาง

            1. ท่อลำเลียงไปยังเทอร์มินัลตามท่าเรือต่างๆ ได้แก่ ไปทะเลบอลติก  เพื่อออกเทอร์มินัลที่ท่าเรือทาลลิน (Tallin)ในเอสโตเนีย และท่าเรือเวนต์สปิล(Ventspils)ในลัตเวีย  ไปทะเลเบรนต์ ที่ท่าเรือมูร์มันสค์ (Murmansk) ไปยังท่าเรือทะเลดำที่ท่าเรือโนโวรัสซีสค์(Novo-Russysk) และโอเดสสา(Odessa) ของยูเครน  ไปยังทะเลอาเดรียติกที่ท่าเรือโอมิซาลิ (Omisalj) ของโครเอเชีย

             2. ท่อลำเลียงน้ำมันดรูฌบา (Druzhba) ไปยังยุโรปตะวันตก

             3. ท่อลำเลียงน้ำมันจากทะเลสาบแคสเปียนไปยังท่าเรือที่ทะเลดำและจากไซบีเรียไปยังจีนและเกาหลี (อยู่ระหว่างการก่อสร้าง)

 
 

เศรษฐกิจแบ่งตามภูมิภาค

 

             รัสเซียเป็นประเทศที่กว้างใหญ่ไพศาล  การทำธุรกิจกับรัสเซียอย่างมีทิศทาง  นักธุรกิจต้องมีภาพระดับโครงสร้าง  ไม่เพียงแต่ต้องมองในระดับมหภาคและระดับสาขาเท่านั้น แต่ต้องมองในระดับภูมิภาคด้วย

             รัสเซียแบ่งเศรษฐกิจตามหลักพื้นที่เป็น 7 ภูมิภาค (ไล่นับจากยุโรปมาเอเชีย) ได้แก่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันตกเฉียงเหนือ (North-West region) เขตเศรษฐกิจภาคกลาง (Central region) เขตเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำโวลก้า (Volga region) เขตเศรษฐกิจภาคใต้ (Southern region) เขตเศรษฐกิจเขตอุตสาหกรรมเทือกเขายูราล(Ural Mountain region)  เขตเศรษฐกิจภูมิภาคไซบีเรีย (Siberian region)  และเขตเศรษฐกิจภูมิภาคตะวันออกไกล (Far East region)

             แม้รัสเซียมีดินแดน 2 ใน 3 อยู่ในทวีปเอเชีย และทรัพยากรส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ในส่วนของทวีปเอเชีย แต่ความเจริญทางเศรษฐกิจของรัสเซียกว่า 4 ใน 5 ของประเทศมาจากส่วนของทวีปยุโรป   ภูมิภาคเศรษฐกิจที่มีความสำคัญต่อรัสเซียมากเป็นลำดับที่หนึ่งคือเขตเศรษฐกิจภาคกลาง

             เขตเศรษฐกิจภาคกลาง ประกอบด้วยมณฑลต่างๆ ที่อยู่ล้อมรอบกรุงมอสโก 17 มณฑล  มีสัดส่วนใน GDP ของประเทศร้อยละ 30  มีสัดส่วนของผลผลิตทางอุตสาหกรรมร้อยละ 21.3 และเกษตรกรรมร้อยละ 24 มีสัดส่วนของประชากรทั้งประเทศร้อยละ 25.4 หรือจำนวน 37 ล้านคน    กรุงมอสโกเป็นเขตเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดของภาคกลางและของประเทศ เป็นศูนย์กลางของอารยธรรมและวัฒนธรรม และเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจ การเงินและการธนาคารของรัสเซีย  มีสัดส่วนใน GDP ของประเทศร้อยละ 15   และมีความหนาแน่นของประชากรและความสามารถในการบริโภคของประชากรสูงที่สุดของประเทศ   Mercer Human Resource Consulting Servey ได้ทำการสำรวจประจำปี 2004 และจัดให้กรุงมอสโกเป็นเมืองที่มีค่าครองชีพสูงเป็นอันดับที่ 4 ของโลกรองจากกรุงโตเกียว  นครโอซากา และกรุงลอนดอน

             ลักษณะพิเศษหรือจุดแข็งของเขตนี้คือ เป็นศูนยŮ