คาซัคสถาน

Country Profile :Kazakhstan

 

 

 

 

 

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

 

ข้อมูลทั่วไป

 
เมืองหลวง
อาสตานา  (Astana)
 
พื้นที่
2.7 ล้านตร.กม.  (ใหญ่เป็นอันดับที่ 9 ของโลก)
 
ประชากร

5.4  ล้านคน  (2549)  ชาวคาซัค 53.4 % รัสเซีย 30% ยูเครน 3.7 % อุซเบก 2.5% และอื่นๆ

 
ภาษา

คาซัค ใช้ร้อยละ 64.4 (ภาษาประจำชาติ/state language) รัสเซีย (ภาษาราชการ) ใช้ร้อยละ 95

 
ศาสนา
อิสลาม นิกายสุหนี่  ร้อยละ 47  คริสต์นิกายออร์โธด็อกซ์ ร้อยละ 44 
 
สกุลเงิน

เต็งเก (Tenge-KZT) 1 USD = 128  KZT (มี.ค. 49) 

 
เวลา

เขตตอนกลางของประเทศเร็วกว่ามาตรฐาน GMT 5 ชั่วโมง (ช้ากว่าไทย 2 ชั่วโมง)
เขตตะวันออกของประเทศ  (กรุงอัสตานาและนครอัลมาตี) เร็วกว่ามาตรฐาน GMT  6  ชั่วโมง (ช้ากว่าไทย 1 ชั่วโมง)
เขตตะวันตกของประเทศ   เร็วกว่ามาตรฐาน GMT 4 ชั่วโมง (ช้ากว่าไทย 3 ชั่วโมง)

 
การปกครอง
ประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ
 
ประธานาธิบดี
นาย Nursultan A. Nazarbayev   
 
นายกรัฐมนตรี
นาย Daniyal K. Akhmetov
 
 

ข้อมูลเศรษฐกิจ  (2004)

 
GDP
56.1 พันล้าน USD (2005)
 
GDP Growth
ร้อยละ 9.4  (2005)
 
GNI per capita  
2,260  USD (2004)
 
อัตราเงินเฟ้อ
ร้อยละ 7.6 (2005)  
 
ประชากรที่มีชีวิตต่ำกว่าระดับความยากจน* 
ร้อยละ 19  (ประมาณการปี ค.ศ.2004)  
 
อัตราการว่างงาน
ร้อยละ 8.4  (2004)
 
ทรัพยากร

แหล่งน้ำมันปิโตรเลียม ก๊าซ ถ่านหิน เหล็กกล้า แร่ธาตุต่างๆ

 
ผลิตภัณฑ์ทางเกษตรกรรม

ข้าวสาลี ธัญพืช ฝ้าย ปศุสัตว์

 
อุตสาหกรรมหลัก

น้ำมัน  ถ่านหิน  ก๊าซธรรมชาติ เหล็กและเหล็กกล้า  ผลิตภัณฑ์โลหะต่างๆ สินแร่ 

 
มูลค่าการส่งออก (FOB)

27.5 พันล้าน USD (2005)

 
สินค้าส่งออก   

ผลผลิตจากทรัพยากรธรรมชาติ (น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ) 56.8 % สินแร่ต่างๆ 5.2 %ทองแดง 5.0%

 
ตลาดส่งออกที่สำคัญ

สวิตเซอร์แลนด์  19.8. %  อิตาลี 15%  รัสเซีย  10.5 % ฝรั่งเศส 9.6 % จีน 8.7 %

 
มูลค่าการนำเข้า (FOB)

16.5 พันล้าน USD (2005)

 
สินค้านำเข้าสำคัญ
เครื่องมือเครื่องจักร (26.8%) พาหนะ อาหาร เคมีภัณฑ์ โลหะ รองเท้า
 
แหล่งนำเข้าสินค้า

รัสเซีย 38.%  เยอรมนี 7.5%  จีน 7.2% สหรัฐอเมริกา 6.9%  ยูเครน 4.9%

 
หนี้ต่างประเทศ
40.8 พันล้าน USD (ประมาณการปี 2005 )
 

*ที่มาข้อมูลเศรษฐกิจ : EIU, IMF, CIA The World Factbook

 
 

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับคาซัคสถานเมืองหลวงเก่า (Almaty) –เมืองหลวงใหม่ (Astana)

        เมื่อเดือนธันวาคมปี ค.ศ. 1997 ประธานาธิบดี Nazabayev ได้ประกาศย้ายเมืองหลวงจากนครอัลมาตี (Almaty หรือ Alma-Ata แปลว่า ผลแอปเปิ้ล) ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศติดกับจีน และคีร์กีซสถานมาเป็น นครอัคโมลา (Akmola แปลว่า ศิลาสีขาวประดับหน้าหลุมศพ)  และได้เปลี่ยนชื่อนครอัคโมลา มาเป็น กรุงอาสตานา (Astana แปลว่า เมืองหลวง) อย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1998  ทั้งนี้ เมืองหลวงใหม่ตั้งอยู่บริเวณตอนในของประเทศซึ่งเป็นเมืองที่มีชนกลุ่มน้อยชาวรัสเซียจำนวนมากอาศัยอยู่

 
 

รู้เรื่องคาซัคสถาน * * * *

 

คนคาซัค (Kazakhs) มาจากไหน ?

 
 

      ชาวคาซัคมีต้นกำเนิดมาจากชาวเผ่าเร่ร่อน (Nomads) ซึ่งตั้งรกรากอยู่ในอาณาบริเวณที่เป็นดินแดนประเทศคาซัคสถานในปัจจุบัน ตั้งแต่ศตวรรษที่ 1 ก่อนคริสตกาล   ช่วงเวลาตั้งแต่ศตวรรษที่ 1 ถึงศตวรรษที่ 13 ดินแดนของชาวคาซัคถูกปกครองโดยผู้นำชนเผ่าเร่ร่อนเผ่าต่างๆ ที่ผลัดเปลี่ยนกันเข้ามา  แต่ถูกปกครองโดยมองโกลนานที่สุดจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรมองโกลที่เรียกว่า Kazakh Kanate ตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 จนถึงศตวรรษที่ 16   ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยรวบรวมชาวคาซัคเร่ร่อนและกระจัดกระจายอยู่ในบริเวณทุ่งหญ้าสเตปป์อันกว้างใหญ่ไพศาล ให้เป็นปึกแผ่นและพัฒนาเป็นชนชาติอิสระในเวลาต่อมาจนถึงปัจจุบัน   อาณาจักรชาวคาซัคต้องเผชิญกับการขยายอำนาจของอาณาจักรรัสเซียและถูกผนวกเข้าเป็นรัฐในปกครองของจักรวรรดิรัสเซียตั้งแต่ตอนกลางของศตวรรษที่ 18  รัสเซียเข้ามาทำหน้าที่ปกป้องและคุ้มครองรัฐของชาวคาซัคจากการล่าอาณานิคมของอังกฤษ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ใช้กำลังเข้ายึดครองดินแดนของชาวคาซัคในลักษณะการล่าเมืองขึ้นด้วย

      รัฐของชาวคาซัคถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิรัสเซียในช่วงปีค.ศ. 1840  และทำหน้าที่เป็นป้อมปราการให้กับรัสเซียเพื่อกันการขยายอำนาจของอังกฤษขึ้นเหนือมาจากอินเดีย   รัสเซียเริ่มเข้าไปปรับปรุงรูปแบบการบริหารงานราชการและการทหารในคาซัคสถานเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งและแสดงอำนาจของจักรวรรดิรัสเซียในภูมิภาคเอเชียกลางแข่งกับอังกฤษ ซึ่งสร้างความไม่พอใจแก่ชาวคาซัคเป็นอย่าง   มาก ในช่วงปีค.ศ. 1860 ชาวคาซัคส่วนใหญ่ต่อต้านการเข้ารวมดินแดนกับจักรวรรดิรัสเซีย เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับนโยบายของรัสเซียที่ห้ามการดำรงชีวิตแบบเร่ร่อนตามประเพณีของชาวคาซัคโบราณ  แนวร่วมชาตินิยมคาซัคที่เริ่มก่อตัวขึ้นตั้งแต่ช่วงปีค.ศ. 1800 จึงเริ่มดำเนินการรักษารูปแบบประเพณีและภาษาดั้งเดิมของชนเผ่าคาซัคและได้ลุกขึ้นต่อต้านอำนาจจักรวรรดิในปีค.ศ. 1916 ในช่วงที่จักรวรรดิรัสเซียกำลังจะล่มสลาย ต่อมาเมื่อเกิดการปฏิวัติในรัสเซีย  คาซัคสถานก็ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียสังคมนิยมและเป็นสาธารณรัฐหนึ่งของสหภาพโซเวียต จนถึงปี ค.ศ. 1991      

 

คาซัคสถานหลังได้รับเอกราชจากสหภาพโซเวียต

           คาซัคสถานประกาศความเป็นรัฐอธิปไตยในปีค.ศ. 1990 และได้เข้าร่วมลงนามปฏิญญาอัลมา อาตา (Alma Alta Declaration) วันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ. 1991 เพื่อรองรับการล่มสลายของสหภาพโซเวียตและการจัดตั้งเครือรัฐเอกราช CIS ขึ้นแทน พร้อมกับประกาศความเป็นเอกราชในปีค.ศ. 1991 ประธานาธิบดีนูร์ซุลตาน นาร์ซาบาเยฟ (Nursultan Nazarbayev) อดีตผู้นำระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์สหภาพโซเวียตด้านเศรษฐกิจและเลขาธิการคนที่ 1 พรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตประจำคาซัคสถาน (ค.ศ. 1989-1991) ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีขึ้นปกครองคาซัคสถานตั้งแต่ค.ศ. 1991  และเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2  พร้อมการได้รับการต่ออายุในแต่ละสมัยถึง 2 ครั้ง คือในปีค.ศ. 1995 และในปี ค.ศ. 2005

 

คาซัคสถานในปัจจุบัน

            สถานการณ์ทางการเมือง อำนาจในการปกครองที่แท้จริงอยู่ภายใต้ประธานาธิบดี Nursultan Nazarbayev จนถึงปัจจุบัน ซึ่งนาย Nazarbayev ได้ใช้พระราชกฤษฎีกา (decree) เพิ่มอำนาจให้ตนเองทำให้สามารถดำรงตำแหน่งได้โดยไม่จำกัดอายุ ไม่จำกัดวาระ สามารถแต่งตั้งและปลดรัฐบาล ยุบสภา และเป็นบุคคลเดียวที่สามารถเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเมื่อเดือนวันที่ 4 ธันวาคม ค.ศ. 2006 นาย Nazarbayev ได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่ออีกสมัยหนึ่ง (วาระละ 7 ปี) โดยได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนจากประชาชนทั้งสิ้น ร้อยละ 90 ทั้งนี้ ผู้สังเกตการณ์เลือกตั้งจากองค์กรระหว่างประเทศจาก the Organization for Security and Co-operation in Europe (OSCE) มีความเห็นว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ได้มาตรฐานของ OSCE และไม่โปร่งใส นอกจากนี้ ยังเกิดการฆาตกรรมผู้นำพรรคฝ่ายค้านที่เกิดขึ้น 2 ครั้งในช่วง 5 เดือนที่ผ่าน  ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการเมืองภายในประเทศของคาซัคสถานด้วย 

                       สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ คาซัคสถานเป็นประเทศที่มั่งคั่งที่สุดในภูมิภาคเอเชียกลาง  และมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดและต่อเนื่องมากที่สุดใน CIS  โดยมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยร้อยละ 9.5  (มีอัตราสูงสุดในปีค.ศ. 2001  ร้อยละ 13.2)  โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวขึ้นสูงมาโดยตลอด ซึ่งน้ำมันเป็นสินค้าออกอันดับที่ 1 ของคาซัคสถาน  ยังผลให้คาซัคสถานเป็นประเทศในกลุ่ม CIS ประเทศแรกที่ชำระหนี้ให้ IMF ในปีค.ศ. 2000  ครบก่อนกำหนด เป็นประเทศที่มีสัดส่วนหนี้สาธารณะใน GDP  เพียงร้อยละ 14 เท่านั้นซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่ต่ำมากประเทศหนึ่ง  และในปีค.ศ. 2002  เศรษฐกิจของคาซัคสถานได้รับการรับรองจากกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ว่าเป็นเศรษฐกิจระบบตลาดโดยสมบูรณ์  รวมทั้งเป็นครั้งแรกที่ในปีเดียวกัน คาซัคสถานได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในการลงทุนโดยหน่วยงานและบริษัทการเงินชั้นนำของโลก

            น้ำมันและก๊าซ เป็นสาขานำในโครงสร้างการผลิตของคาซัคสถาน   การผลิตน้ำมันและก๊าซ คอนเดนเสต  ในปีค.ศ. 2004 มีปริมาณ 59.3 ล้านตันและส่งออกถึง 52.4 ล้านตัน   พยากรณ์ว่าภายในปีค.ศ. 2015  คาซัคสถานจะเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันอันดับ 1 ใน 10 ของโลก    อย่างไรก็ตาม คาซัคสถานเป็นประเทศที่การพัฒนาเศรษฐกิจไม่สมดุล  การส่งออกน้ำมันและก๊าซคิดเป็นร้อยละ 50 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด ในขณะที่ภาคการผลิตสินค้าอุปโภคและบริโภค  และการบริการยังมีสัดส่วนใน GDP ต่ำอยู่มาก  การไม่มีทางออกทะเล ทำให้คาซัคสถานยังต้องพึ่งประเทศเพื่อนบ้าน เช่น รัสเซียและจีน ในการเชื่อมกับตลาดโลก      

 

 

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับคาซัคสถานทรัพยากรด้านพลังงานในคาซัคสถาน

            น้ำมัน    - แหล่งน้ำมันในคาซัคสถานเป็นแหล่งน้ำมันในสหภาพโซเวียตเดิมที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากภาคพื้นไซบีเรีย (อูเรนบูร์ก) ของรัสเซีย  และเป็นประเทศที่มีแหล่งน้ำมันดิบที่สำรวจพบแล้วมากเป็นอันดับที่หนึ่งในกลุ่มประเทศรอบทะเลแคสเปียน  มีปริมาณสำรองน้ำมันดิบที่พิสูจน์แล้วประมาณ 9-29 พันล้านบาร์เรล และคาดว่ายังมีสำรองในทะเลสาบแคสเปียน (Possible Reserve)อีกประมาณ 30-50 พันล้านบาร์เรล

            ก๊าซธรรมชาติ - คาซัคสถานมีปริมาณสำรองสูงถึง 65 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ซึ่งเท่ากับปริมาณสำรองของประเทศแคนาดา หรือคูเวต หรือจัดอยู่ใน 20 ลำดับแรกของประเทศที่มีแหล่งสำรองก๊าซธรรมชาติมากที่สุดในโลก

 
 

            สถานการณ์ด้านสังคม ปัญหาความยากจน การว่างงาน ระบบสุขอนามัยที่ไม่ได้มาตรฐานโดยเฉพาะในภาคชนบท ยังคงเป็นปัญหาสำคัญของคาซัคสถาน  ปัญหาช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน เพิ่มสูงขึ้นอันเป็นผลด้านลบของการพัฒนาเศรษฐกิจในปัจจุบัน    และพร้อมกับการขยายพื้นที่การผลิตน้ำมันอย่างขนานใหญ่ในทะเลสาบแคสเปียน ่งผลให้เกิดปัญหาสภาพแวดล้อมเสื่อมโทรมซึ่งมีผลโดยตรงต่อระบบนิเวศวิทยาและการประมง

            ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ  คาซัคสถานมีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียกลางและกลุ่มประเทศ CIS   เป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ  องค์การ OSCE  และสภาความร่วมมือแอตแลนติกเหนือ     รวมทั้ง มีบทบาทที่แข็งขันในโครงการ NATO Partnership for Peace Program  ความสัมพันธ์ในภูมิภาค   คาซัคสถานเป็นสมาชิกที่แข็งขันของ CIS  โดยเฉพาะ ในกรอบความร่วมมือด้านความมั่นคงของ   CIS  ในเอเชียกลางและในกรอบสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย (Eurasia Economic Community)  กับประเทศรัสเซีย เบลารุส คีร์กิซสถานและทาจิกิสถาน   และเป็นสมาชิกขององค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organization)  รวมทั้งเป็นประเทศผู้ก่อตั้ง การประชุมว่าด้วยการปฏิสัมพันธ์และการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจในเอเชีย (Conference for Interaction and Confidence Building Measures in Asia : CICA)    และเป็นสมาชิก Asia Cooperation Dialogue  (ACD)